เรื่มเข้าฤดูฝนแล้ว นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ไม่ให้เป็นหวัด ยังมีสัตว์อันตรายที่มีพิษร้ายแรง ที่มากับฤดูฝนที่พึงระวัง มาดูกันว่ามีสัตว์อันตรายชนิดใดบ้าง พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
แมงมุม
แมงมุมส่วนมากมักไม่มีพิษร้ายแรงหากถูกกัด มีเพียงอาการระคายเคืองเล็กน้อย เช่น บวม แดง คัน แสบร้อน แต่ก็มีแมงมุมบางชนิดที่มีพิษร้ายแรง เช่น แมงมุมแม่ม่ายดำ แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล ซึ่งต้องระวังอย่างมากในหน้าฝนนี้ พิษของแมงมุมชนิดนี้มีผลต่อระบบเลือด ทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะหลายๆ ส่วน
วิธีปฐมพยาบาล : ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ พร้อมประคบเย็น หากเกิดอาการแพ้รุนแรงให้ให้รีบพบแพทย์ทันที
แมลงก้นกระดก
เมื่อเจอแมลงชนิดนี้ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่าโดยเด็ดขาด ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป หากสัมผัสโดนตัวแมลง พิษของมันจะทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ
วิธีปฐมพยาบาล : จุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้งหากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที
งู
สัตว์อันตรายที่พบได้บ่อยในหน้าฝน โดยอันตรายจากงูนั้นร้ายแรงถึงชีวิต หากเกิดอันตรายจากงู ควรโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที
วิธีปฐมพยาบาล : จดจำลักษณะของงูที่กัด รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เคลื่อนไหว ให้น้อยที่สุด รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
ตะขาบ
พิษของตะขาบมีสารที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย เมื่อถูกกัดจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดร้อนบวมแดง ชา เป็นอัมพาตบริเวณแผล
วิธีปฐมพยาบาล : ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือ สบู่อ่อนๆใช้ผ้าพันแผล ประคบเย็น และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
แมงป่อง
ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อย จะปวดบวมบริเวณที่ถูกต่อย ส่วนมากจะมีอาการแค่ในวันแรก และหายได้เอง
วิธีปฐมพยาบาล : ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นประคบแผลด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง เพื่อลดอาการบวม
ในส่วนแมลงหรือสัตว์ชนิดอื่นๆที่ไม่มีพิษ ก็ไม่ใช่ว่าไม่อันตราย อาจเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่สมาชิกในบ้านได้ ดังนั้นการทำความสะอาดบ้านให้สะอาดอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา : กรมอนามัย